ประเภทของหลอดไฟ ก่อนซื้อต้องรู้อะไรบ้าง?

ประเภทของหลอดไฟ ก่อนซื้อต้องรู้อะไรบ้าง?

หลอดไฟเป็นสิ่งจำเป็นต่อผู้คนที่ต้องมีติดไว้ทุกบ้าน เนื่องจากสามารถให้แสงสว่างในยามค่ำคืนได้ดี ในปัจจุบันหลอดไฟถูกพัฒนาจนมีหลากหลายรูปแบบให้เลือกซื้อ ว่าแต่รู้หรือไม่คะ? ว่าหลอดไฟแต่ละรูปแบบแตกต่างกันอย่างไร แล้วแบบไหนเหมาะกับการใช้งานของเราบ้าง วันนี้เราจะพามาทำความรู้จักกับประเภทของหลอดไฟกันค่ะ

หลอดไฟ คืออะไร

เป็นอุปกรณ์ที่ให้แสงสว่างตามพื้นที่ต่างๆ โดยใช้พลังงานไฟฟ้า ทำให้ได้แสงที่สว่างและใช้งานนานกว่าตะเกียงและเทียน ไม่ต้องมาเสียเวลานั่งจุดไฟ แต่เนื่องจากปัจจุบันผู้ผลิตต้องการพัฒนาให้หลอดไฟประหยัดพลังงานมากขึ้น จึงมีหลอดไฟออกมาหลายรูปแบบมากกว่าสมัยก่อน

ประเภทของหลอดไฟ มีแบบไหนบ้าง

หลอดไส้ หรือ Incandescent

หรือที่ใครหลายคนรู้จักกันในชื่อของหลอดดวงเทียน เป็นหลอดไฟที่ทำมาจากทังสเตนให้ความร้อนสูง หลอดไส้ทำงานโดยให้กระแสไฟฟ้าวิ่งผ่านไส้หลอด และเปลี่ยนพลังงานไฟฟ้าให้กลายเป็นความร้อน เมื่อไส้หลอดร้อนจึงจะเปล่งแสงออกมา แต่มีข้อเสียตรงที่กินไฟมากและอายุการใช้งานสั้น เหมาะสำหรับห้องตกแต่งที่ต้องการแสงสีนวล เช่น ร้านอาหาร สปา โรงแรม ฯลฯ

หลอดฟลูออเรสเซนต์

มีอีกชื่อหนึ่งว่า หลอดนีออน หรือหลอดเรืองแสง เป็นหลอดไฟที่มีไส้โลหะทังสเตนติดอยู่ปลายของหลอดทั้ง 2 ข้าง ฉาบด้วยสารเรืองแสงที่ฉาบไว้และไอปรอทปริมาณเล็กน้อย หลอดฟลูออเรสเซนต์ทำงานโดยให้กระแสไฟฟ้าไหลผ่านปรอท เพื่อคายพลังงานในรูปแบบรังสีอัลตราไวโอเลต เมื่อรังสีกระทบสารเรืองแสง ตัวหลอดไฟก็จะเปล่งแสงออกมา มีอายุการใช้งานเฉลี่ยอยู่ที่ 2 ปี

หลอดฮาโลเจน (Halogen)

เป็นหลอดไฟที่พัฒนาต่อจากหลอดไส้ ทำงานโดยให้กระแสไฟฟ้าไหลผ่านไส้หลอดที่ทำจากทังสเตน ภายในบรรจุก๊าซฮาโลเจน จึงมีความทนทานมากกว่าหลอดไส้และให้ค่าความถูกต้องของสีถึง 100 % มีอายุการใช้งานอยู่ที่ 1,500 – 3,000 ชม. เหมาะกับพื้นที่ที่ต้องการแสงสว่างเป็นพิเศษ เช่น บูธตามงานอีเว้นท์ต่างๆ ผับบาร์

หลอดเมทัลฮาไลด์ (Metal halide)

เป็นหลอดไฟที่จัดอยู่ในกลุ่มให้ความเข้มแสงสูง ทำงานโดยให้อาร์คไฟฟ้าวิ่งผ่านก๊าซ ทำให้หลอดอาร์คขนาดเล็กผสมกับแรงดันสูงของอาร์กอน, ปรอท และความหลากหลายของโลหะ ทำให้เกิดแสงสว่างขึ้น แต่เนื่องจากความร้อนที่เกิดขึ้นจากการแตกตัวของปรอท และไอโลหะที่นำมาผลิตไฟนี้ทำให้อุณหภูมิและความดันเพิ่มขึ้น ส่งผลให้กินไฟมากด้วยเช่นกัน โดยจะกินไฟอยู่ 400 – 500 W เลยทีเดียว หลอดเมทัลฮาไลด์เหมาะสำหรับส่องแสงสว่างตามท้องถนนและงานพิมพ์สี สนามกีฬา สวนสาธารณะ ห้างสรรพสินค้า มีอายุการใช้งานอยู่ที่ 16,000-20,000 ชม.

หลอดแสงจันทร์ หรือ หลอดไฟไอปรอท

หรือหลอดไอปรอทความดันสูง ประกอบด้วยหลอดแก้วควอตซ์ขนาดเล็ก ภายในบรรจุไอปรอทและขั้วไฟฟ้า แล้วครอบด้วยหลอดแก้วบอโรซิลิเกตขนาดใหญ่เพื่อปิดกั้นรังสี UV ที่เปล่งออกมาจากไอปรอทพร้อมกับแสง ทำงานโดยใช้ไฟฟ้าแรงสูง กระโดดผ่านไอปรอทภายในหลอดเพื่อให้แสงสว่าง เหมาะสำหรับโรงงานอุตสาหกรรม โกดังสินค้า และสนามกีฬา มีอายุการใช้งานอยู่ที่ 24,000 ชม.

หลอดตะเกียบ (CFL)

หรือหลอดคอมแพคต์ฟลูออเรสเซนต์ มีหลักการทำงานคล้ายหลอดฟลูออเรสเซนต์แต่จะต้องติดตั้งแหล่งจ่ายไฟพิเศษซึ่งก็คือ บัลลาสต์นั่นเอง มีทั้งแบบที่มีบัลลาสต์ภายในตัวและแบบที่อยู่ภายนอก มีหลากหลายรูปทรง เช่น แบบเกลียว แบบหลอด แบบหลอด 4 แถว ฯลฯ มีอายุการใช้งานยาวนานกว่าหลอดอินแคนเดสเซนต์แบบเดิมถึง 20 เท่า อีกทั้งใช้พลังงานน้อยลงถึง 80% เหมาสำหรับใช้ในสำนักงาน สถานศึกษา เป็นต้น

หลอดไฟ LED

หรือ Light-emitting diode เป็นหลอดไฟที่พัฒนาโดยใช้เทคโนโลยีใหม่ล่าสุดเพื่อให้มีประสิทธิภาพสูงที่สุดในการใช้งานในปัจจุบัน หลักการทำงานจะต่างจากหลอดทั่ว ๆ ไป โดยให้แสงสว่างจากการเคลื่อนของอิเล็กตรอนภายในสารกึ่งตัวนำหลอด LED ซึ่งลดจุดด้อยต่างๆ ของหลอดไฟ ทั้งในเรื่องของความร้อน อายุการใช้งานที่นานขึ้น ถนอมสายตา กินไฟน้อยกว่า ไม่มีสาร UV และไม่ก่อให้เกิดสารพิษเหมือนหลอดแสงจันทร์อีกด้วย หลอด LED มีอายุการใช้งานถึง 50,000 – 60,000 ชั่วโมง

ข้อดีของ หลอดไฟ LED ที่ได้เปรียบกว่าหลอดไฟชนิดอื่น

นอกจากจะให้แสงสว่างทันที ไม่ต้องรอการกระพริบและให้แสงสว่างมากกว่าหลอดไฟชนิดอื่นแล้ว ยังใช้ไฟฟ้าน้อยกว่าถึง 80-90% ถือว่าประหยัดพลังงานมากๆ เลยนะคะ อีกทั้งมีอายุการใช้งานประมาณ 1000,000 ชั่วโมง (ประมาณ 11 ปี) ในส่วนของส่วนประกอบนั้นไม่มีกระจกจึงไม่แตกง่ายและไม่มีไส้หลอดจึงไม่มีปัญหาหลอดไฟขาดง่ายมาคอยกวนใจอีกด้วยค่ะ

ก่อนซื้อหลอดไฟ LED ควรเลือกอย่างไร

นอกจากเลือกรูปแบบการใช้งานและราคาที่เหมาะกับเราแล้ว ยังมีปัจจัยอื่นที่ใช้ในการเลือกหลอดไฟด้วยเหมือนกันนะคะ เพราะหลอดไฟเป็นสิ่งที่ใช้งานได้นาน จะซื้อทั้งทีต้องศึกษาให้ละเอียดจะดีที่สุดค่ะ

สีของหลอดไฟ

หลอดไฟที่ดีควรมีค่าความถูกต้องของสีที่ใกล้เคียงกับธรรมชาติมากที่สุด โดยค่า CRI ควรอยู่ในระดับที่ 70 – 90 เพื่อช่วยถนอมสายตาและป้องกันการรับรู้สีที่ผิดพลาด เช่น การรับรู้สีของเสื้อผ้าในห้องต่างออกไปจากเดิม นอกจากนี้ต้องดูว่าจะนำไปใช้แบบไหนด้วย หากใช้เพิ่มสีสันในห้อง อาจเลือกเป็นแบบปรับได้ 2 โทนสี ทั้งสีขาว cool daylight หรือสีเหลือง Warm white :ซึ่งใช้คู่กับสวิทช์ไฟอันเดิมที่มีอยู่ในบ้านได้ด้วย

รูปทรงของหลอดไฟ

การตกแต่งห้องโดยเลือกทรงของหลอดไฟให้แมชกันจะช่วยให้ห้องนั้นดูมีลูกเล่นมากขึ้น แต่ทั้งนี้ต้องดูด้วยว่าจะนำไปใช้ในห้องแบบไหน เพราะรูปทรงก็มีผลต่อการกระจายแสงด้วยเช่นกัน หากเลือกหลอดไฟรูปทรงไม่เหมาะก็จะทำให้การกระจายแสงไม่เพียงพอ ต้องติดตั้งไฟเพิ่มและเปลืองค่าไฟกว่าเดิม หรืออาจทำให้เฟอร์นิเจอร์ในห้อยเสียหายจากรังสี UV ภายในหลอดไฟอีกด้วยนะคะ

ขนาดของขั้วหลอดไฟ

โดยทั่วไปมีหลอดไฟทั้งหมด 2 ประเภทใหญ่ๆ ได้แก่ แบบเกลียว และแบบเขี้ยว

ขั้วหลอดไฟแบบเกลียว

  • ขั้วแบบเกลียว E14 หรือขั้วเล็ก เหมาะสำหรับใช้กับโคมตกแต่ง โคมไฟระย้า
  • ขั้วแบบเกลียว E27 เป็นขั้วหลอดไฟที่นิยมใช้กันมากที่สุด เหมาะสำหรับใช้กับหลอด LED ทรง Blub หรือหลอดประหยัดไฟแบบแท่งก็ได้เช่นกัน
  • ขั้วแบบเกลียว E40 นิยมใช้กับหลอดที่มีกำลังวัตต์สูงเพื่อรองรับหลอดขนาดใหญ่ โดยทั่วไปจะใช้กับหลอด High Watt ที่มีกำลังวัตต์มากกว่า 40w เหมาะสำหรับโคมฟลัดไลท์ หรือโคมสปอร์ตไลท์

ขั้วหลอดไฟแบบเขี้ยว

  • ขั้วแบบเขี้ยว G13 นิยมใช้กับหลอดไฟนีออน ไม่จำเป็นต้องมีบัลลาสต์และสตาร์ทเตอร์เสมอไปเหมือนสมัยก่อน
  • ขั้ว GU10 เป็นขั้วทรงขาบิดล็อค นิยมนำมาใช้กับโคม Track light หรือ Spot light ซึ่งจะติดตั้งในลักษณะส่องลง
  • ขั้ว GU5.3 นิยมนำมาใช้กับหลอดฮาโลเจนแบบถ้วย

จะเห็นว่าปัจจุบันมีหลอดไฟให้เลือกมากมายดังนั้นควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับหลอดไฟแต่ละชนิดให้ดี เพื่อที่จะไม่ต้องเสียเวลามาซื้อเปลี่ยนใหม่ซ้ำสองนั่นเองค่ะ